การสอนพยัญชนะสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาการฟัง พูด อ่าน เขียน ในการเรียนระดับที่สูง หลักการสอนพยัญชนะทุกตัวให้ชัดซึ่งครูจินมีข้อเสนอแนะหลายวิธีค่ะ
วิธีการใช้เพลงก็สามารถทำให้เด็กจำพยัญชนะได้ เช่น เพลง ช.ช้าง จ๋าลากซุงที (ช. ช้างมีงวงมีงา ช. ช้างมีสี่ขา มีสองตา สองหูกางใหญ่ ช. ช้างตัวโตเดินไป ฉันใช้ให้ช้างลากซุง)
สอนให้ลูกจำพยัญชนะเป็นกลุ่มที่ออกเสียงเหมือนกันหรือเขียนคล้ายกัน เช่น ษ ส ศ, ท ธ ฑ, ก ถ ภ, ม น, บ ป, ผ ฝ, พ ฟ, เป็นต้น วิธีนี้สามารถทำให้เด็กจำพยัญชนะและฝึกเขียนได้เร็วขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ ก-ฮ
วิธีการใช้นิทาน ที่โรงเรียนครูจินให้เด็กๆ เรียนรู้พยัญชนะโดยผ่านนิทาน เช่น นิทาน ร. ตัวอย่างเนื้อเรื่อง ดาวเรืองชอบไปโรงเรียน ที่โรงเรียนมีสอนรำ ดาวเรืองชอบรำ วันหนึ่งดาวเรืองเดินรำไปโรงเรียน ดาวเรืองเดินรำไม่ระวังจึงตกรู เพื่อนๆ เดินมาดูช่วยกันดึงดาวเรืองขึ้นจากรู ดาวเรืองขาเจ็บจึงยืนรำไม่ได้ แต่ดาวเรืองชอบรำจึงนั่งรำ เด็กๆ จดจำได้จากตัวละครและยังเรียนรู้ภาษาความหมายของคำจากนิทานได้ดีด้วยค่ะ
การสอนตัวเลขสอนได้ทุกที่ทุกเวลาโดยเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เช่น คุณพ่อคุณแม่ไปซื้อของที่ห้าง ให้ลูกไปด้วยฝึกให้รับผิดชอบในการเลือกซื้อของที่ห้าง ให้ลูกไปด้วย ฝึกให้รับผิดชอบในการเลือกซื้อของใช้ส่วนตัว โดยสอนให้นับจำนวนสิ่งของที่ซื้อ อาจจะซื้อนมจำนวนกี่แพ็ก ขนมกี่ถุง ดินสอกี่แท่ง ยางลบกี่ก้อน หรือสอนให้ลูกช่วยจัดโต๊ะอาหารต้องใช้ช้อนกี่คัน จานกี่ใบเตรียมให้ครบกับจำนวนสมาชิกในบ้าน เป็นต้น ก็ทำให้ลูกสามารถรู้จักและรู้ค่าของตัวเลขได้ดีอีกวิธีหนึ่งก็ชวนลูกทำบัตรตัวเลข (ให้ลูกมีส่วนร่วม) แล้วนำมาเล่นเป็นเกม เช่น จับคู่เลขกับจำนวน, เปรียบเทียบตัวเลขที่มีค่ามากกว่า น้อยกว่า เลขคู่ เลขคี่ หรือเล่านิทานให้ลูกฟัง เช่น เรื่องตัวเลขทำอะไร (แต่งโดยอาจารย์ ชีวัน วิสาสะ)
หลักสำคัญการสอนเด็กในวัยนี้ต้องสอนจากรูปธรรมเด็กเรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เด็กจะจำและเข้าใจได้ดี หลักการฝึกลูกในวัยนี้จะต้องทำซ้ำๆ เพื่อเกิดทักษะและพยายามให้ลูกได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นการเรียนรู้ทีแท้จริงค่ะ